วันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

“คนรุ่นใหม่ เมาไม่ขับ รับผิดชอบสังคม ครั้งที่ 2”


งานประกาศผลโครงการประกวดโปสเตอร์
คนรุ่นใหม่ เมาไม่ขับ รับผิดชอบสังคม ครั้งที่ 2”


ภาพรวมผลงานและผู้ที่ได้รับรางวัลในการประกวดครั้งนี้
บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด (สาขาประเทศไทย) จัดโครงการ ประกวด โปสเตอร์ คนรุ่นใหม่ เมาไม่ขับ รับผิดชอบสังคม ครั้งที่ 2 นี้ขึ้นเพื่อที่จะตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ในอันที่จะสร้างเสริมความปลอดภัยให้แก่สังคมไทย โดยความร่วมมือจาก มูลนิธิเมาไม่ขับ



ภาพภายในงานวันที่ประกาศผลรางวัล
ในงานครั้งนี้มีรองผู้จัดการสาขาประเทศไทย  บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด นาย วิชัย สันติมหกุลเลิศ  กล่าวว่า บริษัท มิตซุย ฯ ได้ให้การสนับสนุนโครงการของมูลนิธิเมาไม่ขับมาหลายปีติดต่อกัน และการจัดให้มีการประกวดโปสเตอร์ขึ้นนั้น ได้สืบเนื่องมาจากความต้องการเพิ่มเติมในเรื่องสื่อประชาสัมพันธ์ให้แก่มูลนิธิฯ นำไปใช้รณรงค์สร้างพฤติกรรมเมาไม่ขับให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น บริษัทฯจึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพราะต้องการย้ำจุดยืนในการทำงานเพื่อให้ทุกคนร่วมลดอุบัติเหตุในสังคมไทย และเป็นเวทีให้นิสิต นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาได้ใช้ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบของสื่อรณรงค์ที่นำไปใช้ได้จริง และปลูกจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบสังคมด้วยการละเว้นการขับขี่ขณะมึนเมา ผ่านทางผลงานโปสเตอร์รณรงค์ที่ออกแบบโดยคนรุ่นใหม่ด้วยกันเอง
ภาพผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ

ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่ จุดจบ” 
ผลงานของ นางสาวพิมพ์พลอย ลิ้มประไพพงษ์  คณะมัณฑนศิลป์  มหาวิทยาลัยศิลปากร  
โปสเตอร์นี้มีชื่อผลงานว่า"อย่าให้มันมาตัดสินชีวิตคุณ"

          ซึ่งโปสเตอร์นี้ได้ใช้ภาพเพื่อจะสื่อความหมายโดยนัยว่า “ทุกครั้งที่คุณไปดื่มไม่ควรนึกถึงแค่ความสนุก ณ ตอนนั้น แต่ต้องนึกถึงจุดจบของมันด้วยว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งในภาพเลือกใช้กระป๋องเบียร์ที่ถูกบีบอัด โดยมีฉลากเป็นรูปรถ หมายถึงว่าหากเราดื่มแล้วขับ จุดจบของคุณก็คงไม่ต่างอะไรกับกระป๋องเบียร์นั้นเอง ดังนั้นอย่าให้เบียร์เพียงกระป๋องเดียวมาตัดสินชีวิตเรา“ และคณะกรรมการเห็นว่า ภาพสื่อสารตรงประเด็นอย่างชัดเจน ดูมีพลัง และตรงกับแนวคิดของโครงการ

 โปสเตอร์ที่ได้รับรางวัลนี้ เมื่อนำมาวิเคราะห์จากหลักในการออกแบบแล้วนั้นจะเห็นได้ว่า
            ด้านของส่วนสัด ( proportion ) ความสัมพันธ์ในเรื่องของขนาด ระยะหรือพื้นที่ระหว่างของสองสิ่ง กว้า ยาว สอดคล้องกับสัดส่วนของกระดาษมาตรฐานที่จำหน่ายทั่วไป ในเรื่องการเปรียบเทียบทางด้านองค์ประกอบ ทั้งขนาดตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่ สามารถอ่านหรือมองเห็นได้ชัดเจน และเป็นที่สะดุดตา พร้อมด้วยภาพประกอบกับคำที่ใช้ในการสื่อ จึงทำให้มองเห็นและเข้าใจในสิ่งที่ผู้ออกแบบนั้นต้องการสื่อออกมาได้อย่างชัดเจน

            ในด้านของความสมดุล ( balance ) สำหรับโปสเตอร์นี้ถ้าดูการจัดวางตำแหน่งขององค์ประกอบต่างๆ ในภาพจะเห็นได้ว่าการลงตำแหน่งของแต่ละส่วนสัดนั้นมีน้ำหนักที่เท่ากัน น้ำหนักของภาพจะขึ้นอยู่กับขนาด รูปร่าง ความเข้มและสีที่ชัดเจนและเป็นตำแหน่งที่เหมาะสม ทำให้ภาพดังกล่าวออกมาดูเด่นและสมดุลไปในทิศทางเดียวกัน

            เรื่องความแตกต่าง ( contrast ) ในโปสเตอร์นี้จะเน้นความแตกต่างโดยรูปร่าง ส่วนของกระป๋องตัวแทนเปรียบให้เป็นรถยนต์ที่เป็นจุดขาย เมื่อเราดื่มของมึนเมาก็เปรียบกับการที่เราเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตูจนอาจถึงชีวิตได้ และเน้นความแตกต่างด้วยทิศทางจะสื่อให้คนเข้าใจไปในทางเดียวกัน ให้มองภาพเป็นแนวนอน โดยให้ส่วนที่เป็นกระป๋องเบียร์นั้นเป็นส่วนตัดกับคำที่เป็นตัวอักษรสื่อความหมาย พร้อมสีแดงแสดงถึงเลือดและความสูญเสีย เพื่อเร้าความรู้สึก ซึ่งทำได้โดยการใช้ขนาด รูปร่าง สี และทิศทางที่แตกต่างไปจากองค์ประกอบอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบเพื่อทำให้เกิดความเด่นขึ้น

            ด้านความมีเอกภาพ ( unity ) เป็นการจัดวางองค์ประกอบทั้งหมดของรูปแบบในโปสเตอร์ ตั้งแต่ข้อความ ภาพ สัญลักษณ์เปรียบเทียบ ให้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ผู้ออกแบบสามารถสะท้อนเรื่องราวที่จะสื่อได้เป็นหนึ่งเดียว ทำให้เกิดผลต่อผู้อ่านหรือผู้ดูไปในทางเดียวกัน โดยสอดคล้องกับความต้องการและวัตถุประสงค์ของผู้ออกแบบด้วย

            การผสมกลมกลืน ( harmony ) การออกแบบของผู้ออกแบบโปสเตอร์นี้จัดให้องค์ประกอบ ของภาพให้มีความผสมกลมกลืนและได้ผลตามความต้องการ เพราะรูปแบบที่ออกมาสะดุดตาผู้ชม ผู้ที่พบเห็นหรือผู้ที่สนใจอีกด้วย ซึ่งภาพรวมทั้งหมดสื่อความหมายหรือให้ผลในการมองเป็นสิ่งเดียวกัน ความผสมกลมกลืนจะจัดการได้ในเรื่อง สี รูปทรงขององค์ประกอบต่างๆและแบบตัวอักษรได้อย่างดี

            การเน้นจุดแห่งความสนใจ ( Center of interest ) ผู้ออกแบบได้ชี้จุดเปรียบเทียบกระป๋องเบียร์ ว่ายิ่งดื่มยิ่งเป็นบ่อเกิดของความสูญเสีย แม้จะเป็นเพียงแค่กระป๋องเดียว แต่ไม่ควรประมาท ซี่งมีลักษณะเด่น น่าสนใจเป็นพิเศษกว่าบริเวณอื่นเพื่อดึงดูดสายตาของผู้ดู ซึ่งการออกแบบแบบนี้เป็นการสร้างสรรค์งานเพื่อโน้มน้าวใจผู้ดูให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการ ใช่เพื่อความพอใจของผู้ออกแบบเอง

                ขนาดของโปสเตอร์ (Size) ขนาดของวัตถุเป็นส่วนประกอบกันที่ทำให้ผลงานดังกล่าวมีรูปแบบที่ชัดเจนขึ้นมา การจัดขนาดส่วนประกอบต่าง ๆ ผู้ออกแบบสามารถวางแผนการออกแบบได้เป็นอย่างดีจึงทำให้ผลงานน่าสนใจยิ่งขึ้นและดูเป็นระเบียบขึ้น ขนาดจะทำให้เห็นความสำคัญของสิ่งที่ต้องการเน้น ช่วยดึงดูดความสนใจ และช่วยให้ผลงานชิ้นสำเร็จประกอบเข้าด้วยกันได้อย่างเหมาะสม
          เรื่องของสีสัน (Color) สีเป็นองค์ประกอบของการออกแบบที่มีความสำคัญมาก เพราะสีจะมีผลด้านอารมณ์ และความรู้สึก สียังทำให้เกิดภาพ ดึงดูดความสนใจ และบอกความรู้สึกของสิ่งต่าง ๆ และผู้ออกแบบเลือกใช้สีที่ส่งผลต่อการเข้าใจและเข้าถึงได้เป็นอย่างดี สามารถเปรียบเทียบได้อย่างเข้าใจง่ายๆในตัวมันเอง โดยไม่ต้องใช้คำอธิบายที่มากเกินไป
                ด้านตัวอักษร (Typography) ตัวอักษรของโปสเตอร์นี้ สามารถเรียงร้อยบอกเล่าเรื่องราวให้ผู้อ่านแปลความหมายตามที่ผู้ออกแบบสื่อได้โดยตรง ไม่ต้องแปลความหมายเหมือนเช่นองค์ประกอบอื่น ซึ่งผู้ออกแบบได้ตกแต่งตัวอักษรโดยใช้รูปแบบ และสีสัน มาจัดวางเป็นความหมายแบบเปรียบเทียบ สร้างแรงดึงดูดให้สนใจและน่าค้นหาติดตาม
           
         " ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ คือ การออกแบบหลักๆของสื่อสิ่งพิมพ์ในเบื้องต้น ผู้เขียนคิดว่าหลักการดังกล่าวตรงและเหมาะสมกับโปสเตอร์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เพราะมีคุณสมบัติที่ตรงกับหัวข้อ และวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการที่จัดโครงการครั้งนี้ขึ้น เป็นโปสเตอร์ที่สื่อภาพนิ่งออกมาได้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งเน้นความหมายโดยนัยได้อย่างแตกฉาน โดยใช้ภาพเบียร์เพียงแค่ 1 กระป๋องแล้วเล่าเหตุการณ์จากภาพต่อโดยเรียงกระป๋องเบียร์ที่ค่อยๆชำรุดไปในแนวนอนและทิศทางเดียวกัน ทำให้ผู้ชมสามารถมองถึงเหตุเกิดของการขาดสติในการดื่ม เพียงแค่เบียร์ 1 กระป๋องก็จับมาออกแบบและถ่ายทอดถึงจุดจบของการขาดสติที่เกิดจากการดื่มของมึนเมา จนทำให้เป็นบ่อเกิดของความสูญเสียได้อย่างชัดเจนและโดดเด่นเป็นอย่างมาก "